โหมโรง เดอะมิวสิคัล สุดยอดดนตรีไทยกับละครเวทีที่มีดีกว่าแค่เพลง

เรื่องการแสดงและดนตรีเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ถือเป็นความชอบเฉพาะบุคคล บางคนชอบดูบัลเลต์ บางคนชอบดูดนตรีคลาสสิค และ อีกหลายคนที่ไม่ค่อยอินกับอะไรแนวนี้เท่าไร เวลามีละครเวทีหรือ musical ของไทยหลายคราจึงดูเหมือนผลงานเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งๆ ที่ทำออกมาได้อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ

ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูโหมโรงเดอะมิวสิคัลมา ความประทับใจที่ได้จากการรับชมเปี่ยมล้นจนอดไม่ได้ที่จะมาบอกต่อ

หลายคนมองว่าต้องเป็นคนชอบดนตรีไทยถึงจะไปฟัง แต่ส่วนตัวคิดว่ามิวสิคัลชิ้นนี้มีดีมากกว่าดนตรี จึงอยากจะมาเล่าถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่โดนใจเผื่อใครที่อ่านแล้วถูกใจจะได้ตามไปชมกันค่ะ

overture

โครงเรื่องบทละคร

ถ้าใครจำกันได้ โหมโรงเป็นเรื่องราวของงหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีของไทย ที่ได้แสดงอัจฉริยภาพด้านดนตรี สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวสยาม แต่ชีวิตบั้นปลายกลับต้องมาฝ่าฟันกระแสอันเชี่ยวกรากของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่มองว่าดนตรีไทยนั้นเก่าคร่ำครึล้าหลังไม่ศิวิไลซ์ถึงขั้นมีการห้ามปรามลงโทษกันเลยทีเดียว

การเขียนบทและจัดวางโครงเรื่องทำได้อย่างชาญฉลาด มีตึงมีผ่อน มีเคร่งเครียดมีครื้นเครงสลับคละเคล้ากันไปในจังหวะและสัดส่วนอันพอเหมาะพอดีทำให้สามารถตรึงความสนใจผู้ชมได้ตลอดการแสดง การเล่าเรื่องสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทั้งเรื่องราวของศรในตอนเด็กที่หลงใหลในเสียงดนตรี ศรในตอนรุ่นหนุ่มซึ่งมุทะลุหยิ่งผยองลำพองในฝีมือตนจนได้โอกาสขับเคี่ยวกับระนาดเอกของแผ่นดินอย่างขุนอินทร์ และศรในบั้นปลายที่แม้ทางการจะสั่งห้ามการแสดงดนตรีไทยแต่ก็ไม่ทำให้เสียงเพลงเสนาะเหล่านั้นจืดจางไปจากใจศรและเหล่าคนดนตรีได้

บทพูดก็เขียนได้สวยงาม มีจังหวะจะโคน สอดแทรกมุกตลกเข้ามาได้อย่างแนบเนียน ไม่เว่อร์ไม่ล้น และที่สำคัญสื่อสารสาสน์สำคัญในแหลายแง่มุมที่จับใจคนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาชนะจิตใจตน ความกล้าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ให้วงการดนตรี การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือเรื่องของดนตรีและจิตใจของคน

เรื่องราวในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นค่อนข้างละเอียดอ่อน และสะท้อนสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง ละครนั้นชี้ให้เห็นความสำคัญของการไม่หลงลืมในรากเหง้าของตน ในยามที่บ้านเมืองพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยุคที่คำติดปากคือ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เป็นช่วงเวลาที่ผู้นำพยายามจะพัฒนาประเทศทันสมัยศิวิไลซ์ทัดเทียมนานาอารยประเทศโดยไม่คิดคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ละครชี้ให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทย และสื่อถึงศรัทธาในหัวใจคนว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปรง่ายได้เพียงเพราะมีกฎมีระเบียบมาสั่ง แม้ละครจะออกมาตามท้องเรื่องที่สนับสนุนอัตลักษณ์ความเป็นไทยสวนกระแสกับความต้องการของผู้นำในขณะนั้น แต่ในฐานะคนฟังก็อดเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้างเมืองปัจจุบันที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ กลับกันก็เสียแต่ผู้นำพยายามออกคำสั่งให้อนุรักษ์ความเป็นไทยแทนความคิดทันสมัยหลายๆ อย่างที่มาคู่กับสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ หากที่ไม่แตกต่างกันคือความพยายามที่จะควบคุมอิสรภาพทางความคิดและการแสดงออก ซึ่งการได้มาดูละครนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายๆ คนได้ฉุกคิดเช่นกัน และที่สุดแล้วในละครเองก็เหมือนจะเผยทางออกให้กลายๆ ในซีนที่ความเก่ากับความใหม่ อย่างระนาดและเปียโนที่สามารถสอดประสานบรรเลงสรรสร้างบทเพลงอันไพเราะวิจิตรบรรจงร่วมกันได้เมื่อทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน

ฉาก แสง สี เสียง

ได้ดูละครเวทีมาก็หลายเรื่องทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันได้เลยว่าเทคนิคต่างๆ และฉากของเรื่องนี้มีมาตรฐานสูงไม่อายใคร

ทั้งองค์ประกอบภาพที่จัดมุมจักฉากได้ละมุนตาและแข็งกร้าวตามอารมณ์ของซีนนั้นๆ การเปลี่ยนฉากต่างๆ ก็ทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ทั้งยกเข้ายกออกจากด้านบน ทั้งพื้นหมุน ทั้งม่านกั้น ทำได้ลงตัวไปเสียหมดไม่ทำให้อารมณ์ขาดตอน

ฉากเด่นๆ ที่แปลกตาน่าจดจำเป็นพิเศษเห็นจะเป็นฉากที่เสมือนผู้ชมกำลังมองนักแสดงจากมุมบน ขณะที่พระเอกของเราทอดตัวนอนในเรือและทอดตาไปยังฟากฟ้า แสงดาว เงาไม้ ทาบทับลงบนผืนน้ำ เป็นมุมที่แทบไม่เคยได้เห็นจากการแสดงละครเวทีของที่ใดมาก่อน ต่อเนื่องด้วยการฉายฝูงนกฝูงผีเสื้อจากโปรเจกเตอร์ที่โบยบินพลิ้วไหวงดงาม เพื่อสื่อถึงข้อคิดช่วงสำคัญที่ศรคิดได้ว่าต่างคนก็ต่างมีทางเดินของตนที่แตกต่างกันและสามารถทำให้ดีได้โดยการเป็นตัวของตัวเองก็ทำได้ไม่มีที่ติ

อีกส่วนที่ชื่นชอบก็คือโทนสี ที่เล่นโทนเย็นโทนอุ่นในช่วงสลับอดีตและปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของแสงสีที่ได้นักออกแบบคอนเสิร์ตฝีมือดีอย่างพล หุยประเสิฐมาดูแล ประทับใจที่สามารถให้แสงสีเล่าเรื่องได้ดีไม่แพ้บทเพลงและตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นแสงสีที่ส่งอารมณ์ทั้งฮึกเหิมหลงระเริงในความเก่งกล้าของตนของศรรุ่นหนุ่ม และที่ชัดกว่าคือการสื่อสะท้อนความหวาดกลัวในหัวใจของศรกับการที่จะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง พายุอารมณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ศรรำลึกถึงเสียงระนาดดังกังวานของขุนอิน ถูกสื่อออกมาได้อย่างเร้าอารมณ์ผ่านสีแดงและแสงกระพริบวูบวาบสับสนยุ่งเหยิงไม่แพ้คลื่นอารมณ์ในใจของศร

บทเพลงและดนตรีประกอบ

ชอบในบทประพันธ์ดนตรีทุกฉากทุกตอนของการแสดงนี้มาก ตัวที่เป็นเพลงร้องนั้นสละสลวยสวยงาม ท่วงทำนองไพเราะ เนื้อหาซาบซึ้งกินใจ แต่ที่น่าทึ่งกว่าคือ ความหมายที่ลึกซึ้งตีความได้หลายด้าน หลายบทเพลงมีความร่วมสมัย คือฟังแล้วรู้สึกเลยว่าเนื้อหานั้นกลางๆ เข้ากันได้กับหลากหลายเรื่องราวและเหตุการณ์ทุกยุคทุกสมัย เรียกว่าถ้าเอาออกจากบริบทนี้ไปร้องในเวลาปัจจุบันก็ยังเข้ากันได้กับจิตใจและความนึกคิดของคนในสมัยนี้ได้อย่างไม่ขัดเขิน ตัวดนตรีประกอบนั้นบทจะหวานก็หวาน บทจะเข้มแข็งก็ขึงขัง บทจะซึ้งก็ซึ้งจนน้ำตาเอ่อ

ที่กระแทกใจที่สุดเห็นจะเป็นหนึ่งในฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง ที่นำเพลงที่ฉากก่อนหน้านั้นได้ร้องไว้ในลักษณะปลุกปลอบใจคนรอบข้างให้ยิ้มสู้ทุกสถานการณ์มาร้องซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่หดหู่เศร้าหมองราวหัวใจจะแตกสลาย ในวินาทีนั้นมันไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าเพลงเดียวกันเนื้อเพลงที่เหมือนกันทุกท่อนทุกคำไม่ผิดเพี้ยนจะสามารถสื่ออารมณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว จากความรู้สึกเปี่ยมไปด้วยความหวัง  ที่ร้องอย่าง lighthearted เพื่อปลอบประโลมผองเพื่อนกลับกลายเป็นความเศร้ากรีดหัวใจที่เรียกน้ำตาให้ทะลักทะลายออกมาไม่รู้ตัว

ส่วนดนตรีไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง การได้มือระดับปรมาจารย์ของประเทศมานั่งเล่นดนตรีไทยให้ดูสดๆ นั้นเป็นบุญตาบุญหูเสียจริงๆ เชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ชื่นชอบในดนตรีไทยมาก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ตาม คุณจะต้องทึ่งเมื่อได้เห็นว่าดนตรีไทยทำอะไรได้บ้าง และจะภูมิใจสุดๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะอันงดงามเหล่านี้ การได้ฟังเครื่องดนตรีไทยเต็มวงที่เล่นออกมาแล้วไพเราะเสนาะหูยิ่งว่าเพลงสากลบรรเลงโดยซิมโฟนีที่เราคุ้นชินเปิดโลกทัศน์ทางดนตรีให้เราอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการได้ฟังการประชันระนาดที่รวดเร็วพลิ้วไหว ว่องไวจนตามองไม่ทัน เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ฟังแล้วขนลุกซู่ ตอนประชันที่พีคสุดๆ คนดูทั้งโรงเงียบสนิทลุ้นระทึกตามไปด้วย หากดูในภาพยนตร์เราก็ไม่แน่ใจว่าตรงไหนเป็น sound effect เป็น visual effect แต่พอเป็นการแสดงสดความสงสัยทั้งหมดทั้งมวลก็มลายหายไป เหลื่อแต่ความอัศจรรย์ใจในฝีไม้ลายมือของผู้แสดง ส่วนตัวรู้สึกดีใจจริงๆ ที่มิวสิคัลเรื่องนี้ให้เวทีแก่ดนตรีไทย ได้มาประกาศศักดาให้กับผู้คนในวงกว้างขึ้นได้รู้ว่าดนตรีไทยนั้นสุดยอดแค่ไหน ฝีมือนักดนตรีไทยเราไม่แพ้ชาติใด และให้ดนตรีไทยได้ลุกขึ้นยืนผงาดในใจคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

นักแสดงและฝีมือการแสดง

การแสดงครั้งนี้รวบรวมนักร้องนักแสดงนักดนตรีรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ทั้งมือใหม่และมือเก่าฝีมือเก๋ามากันคับเวที พลังการแสดงจึงทะลักล้นและเอาคนดูได้อยู่หมัดอย่างไร้ข้อกังขา ประทับใจน้องที่แสดงเป็นศรตอนเด็กที่สามารถกระชากให้ผู้ชมเข้าไปมีอารมณ์ร่วมถึงขั้นเสียน้ำตาได้ตั้งแต่ฉากแรกที่เปิดมา น้องที่แสดงเป็นทิววัยเด็กก็แสดงได้น่านักน่าชังน่าหมั่นเขี้ยว เป็นหนึ่งในตัวประกอบที่ขโมยซีนเก่งที่สุดเพราะเรียกเสียงหัวเราได้ทุกฉากที่ออกมา

ส่วนตัวคิดว่า casting ออกมาได้เหมาะสม ไม่มีตัวละครได้ที่ขัดหูขัดตา ทุกคนแสดงออกมาจนเราเชื่อในความเป็นตัวละครตัวนั้นๆ ยิ่งรุ่นใหญ่ยิ่งมีออร่ามีบารมีที่เล่นน้อยได้มากกันทั้งสิ้น ตัวหลักๆ นั้นแสดงดีไม่ต้องพูดถึง นางเอกถึงบทน้อยแต่ก็เสียงหวานไพเราะเสนาะหูเป็นที่ยิ่ง พระเอกตีระนาดได้ดีแบบน่าทึ่ง ที่อยากชมคือตัวประกอบที่เล่นจังหวะที่เป็น comedy ได้ดี และที่ได้ใจไปที่สุดคือคุณเปี๊ยกในเรื่องที่ดูเฮฮาร่าเริงเหมือนไม่มีอะไรแต่แสดงฉากพีคได้กินใจ แอบได้ยินเสียงสูดน้ำมูกมาจากหลายทิศทางในโรงและมั่นใจว่าไม่ใช่เราคนเดียวแน่ๆ ที่กำลังร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรอยู่ ณ ขณะนั้น

สุดท้ายที่อดชมไม่ได้คือ Subtitle ภาษาอังกฤษที่ใช้ภาษาได้สละสลวยระดับเจ้าของภาษาและปรับบทสื่อสารให้มีระดับชั้นเหมาะกับผู้พูด อย่างภาษากันเองของเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว หรือเมื่อต้องเป็นทางการคุยกับเจ้ากับนาย และในส่วนที่แปลบทเพลงออกมาได้เสมือนเป็นวรรณกรรมชั้นเอกที่ออกมาแทบจะเป็นบทโคลงกลอน

ต้องขอบคุณทีมงานเบื้องหลังและนักแสดงทุกคนที่ร่วมใจกันสรรสร้างผลงานคุณภาพชิ้นนี้ออกมาให้โลกได้รับฟัง และด้วยความประทับใจทั้งหมดนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านไปชมละครเวทีน้ำดีอย่างโหมโรงที่จะทำให้คุณได้รู้สึกอิ่มเอมหัวใจและหันกลับมาให้ความรักกับศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบดนตรีที่ควรค่าแก่การชื่นชม

รายละเอียดการจองบัตร อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Thai Ticket Major

 

Comments

comments