พาคุณดื่มด่ำไปกับความลุ่มลึกของชา @Peace Oriental Teahouse

เมื่อพูดถึง ‘ศาสตร์แห่งชา’  หลายๆ คนก็คงนึกภาพพิธีการชงชาของญี่ปุ่น ความละเอียดลออในการผสมชา การหมุนชามให้ได้ครบรอบและวางเสิร์ฟให้ไม่ผิดพลาดแม้แต่องศาเดียว

 

26 Matcha Latte 1

 

แต่แท้จริงแล้วศาสตร์แห่งชามีมากกว่าพิธีรีตองในการชงชามากมายนัก คนที่เข้าถึงศิลปะแห่งชาจะสามารถแยกแยะองค์ประกอบ ‘รส’ ‘กลิ่น’ ‘บอดี้’ และ ‘ความฉ่ำคอ’ ของชาแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ คล้ายๆ กับนักดื่มไวน์ผู้ช่ำชองที่สามารถจำแนกแยกแยะที่มาของไวน์ชนิดต่างๆ ได้

ศาสตร์แห่งชาเป็นศาสตร์ที่สั่งสมมาในโลกตะวันออกนับพันปีและกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่น

หลายๆ คนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนอาจจะได้เคยเห็นญาติผู้ใหญ่จุดตะเกียงโบราณตั้งชุดชาและนั่งชงชาพร้อมดื่มด่ำละเลียดจิบชากันอย่างสบายอารมณ์

 

23 Jinjunmei 1

 

การชงชามีรายละเอียดเปลีกย่อยมากมาย แต่ศาสตร์เหล่านี้ก็ค่อยๆสูญหายเพราะคนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยนิยมที่จะนั่งชงชาที่มีกรรมวิธีมากมายหลายขั้นตอนอันกินเวลามาก ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่เข้าถึงศาสตร์แห่งชาไม่มากนัก

แต่วันนี้เราจะนำคุณไปที่ “Peace Oriental Teahouse” เพื่อพบกับ Tea Master ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับชาอย่างลึกซึ้งและได้คัดสรรชาชั้นเลิศของขึ้นชื่อจากหลายเมืองหลายประเทศมาให้คุณได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งชาและได้ดื่มด่ำไปกับความลุ่มลึกของชาชนิดต่างๆ กันค่ะ

 

 

2

 

ร้าน Peace Oriental Teahouse นั้นตั้งอยู่ในซอยเอกมัย

เมื่อเข้าไปถึงจะสัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายของการตกแต่งที่ทำให้ร้านมีบรรยากาศโล่งโปร่งสบาย สมกับเป็นมุมสงบที่จะให้คุณได้มาเปิดประสาทสัมผัสโฟกัสอยู่ที่ชาที่ชงอย่างพิถีพิถันมาให้คุณได้ลิ้มลอง

 

3

 

ชั้นวางตกแต่งด้วยกาน้ำชาหลากหลายแบบ

 

4

 

 

หากคุณต้องการจะแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับการดื่มชา ขอแนะนำให้นั่งที่เคาน์เตอร์บาร์ที่ชั้นล่างของร้านค่ะ

 

1

 

เพราะที่นี่คุณจะได้สนทนากับ Tea Master ผู้ทรงความรู้ที่จะทำให้คุณได้เพลิดเพลินกับการจิบชาพร้อมกับฟังประวัติศาสตร์ ที่มา และกระบวนการผลิตรวมถึงการชงชาไปพร้อมๆ กัน

 

9.K.Tee

 

ส่วนใครที่มองหามุมสงบส่วนตัวเพื่อนั่งจิบชาควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือ ตั้งสมาธิทำงาน หรือ พุดคุยกันอย่างผ่อนคลาย แนะนำชั้นสองค่ะ

 

7

 

เพราะทางร้านตั้งใจจัดชั้นสองให้เป็น ‘Peaceful reading space’ ให้คุณได้นั่งอย่างสบายใจไม่มีใครมารบกวน พนักงานจะนำชามาเสิร์ฟ อธิบายเพียงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้คุณมีความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่ไม่มาวุ่นวายมากค่ะ

 

8

 

คุณธีเจ้าของร้านเล่าให้เราฟังว่า Tea Master ของทางร้านนั้นคัดเลือกมาแล้วว่ามีคุณสมบัติสองประการคือเป็นคนที่มีความรักชาและเป็นคนที่นิสัยน่ารัก
คนที่มีความรักและหลงใหลกับศาสตร์แห่งชานั้นมีอยู่ไม่มาก การที่มีคนรักชาหลายๆ คนมารวมกันจึงเป็นความพิเศษ และเราจะได้ร่วมรับรู้ถึงความรักที่พวกเขามีต่อชาทั้งจากเรื่องราวที่ถ่ายทอดและจากชาแต่ละถ้วยที่พวกเขาบรรจงชงให้คุณ

คุณธีบอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เลือกแต่เหมือนเขาถูกเลือกมากกว่า “We didn’t choose to do tea, we were chosen” และ เมื่อเราได้ชมวิธีการชงและได้ชิมชาของที่นี่เราก็รู้สึกได้จริงๆ ว่าเขาเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่ถูกเลือกมาแล้วอย่างแน่แท้

 

10

 

เมื่อเห็นความชอบที่คุณธีมีต่อศาสตร์แห่งชาเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งหันมาสนใจเรื่องราวของชาจนเข้าถึงอย่างลึกซึ้งได้ถึงเพียงนี้ แล้วเราก็ต้องแปลกใจ เพราะคุณธีเล่าว่าด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวคนจีนเขาถูกบังคับให้ดื่มชามาตั้งแต่ในวัยเยาว์ซึ่ง ณ ตอนนั้น เขาพูดได้เต็มปากเลยว่าความรู้สึกที่มีต่อชาเป็นความรู้สึก“เกลียด”เสียด้วยซ้ำ ความเกลียดนั้นเปลี่ยนมาเป็นความชอบและหลงใหลเมื่อไรเขาก็ไม่อาจจะรู้ได้ แต่รู้ตัวอีกทีชาก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ “ขาดไม่ได้” ในชีวิตเขาไปเสียแล้ว

จากคนรักชามาสู่การทำร้านชาแบบเฉพาะทางด้วยตัวคนเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่คุณธีก็ลุยงานทั้งด้านคอนเสปท์ด้านการออกแบบร้านและการเดินทางไปคัดชามาด้วยตนเองจนมาเป็น Teahouse ที่แม้ว่าจะเพิ่งเปิดได้เพียงไม่กี่เดือนก็มีกระแสความนิยมอย่างล้นหลาม ด้วยความที่เป็น Teahouse ที่ยึดถือศิลปะชงชาอย่างตะวันออกอย่างแท้จริงและการคัดสรรชาอย่างประณีตถึงขั้นที่ต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปตามหาชาชั้นเลิศมาจากไร่ชาในชนบทของประเทศจีนบ้างจากเมืองเล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่นบ้างก็ทำให้ร้านนี้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครและเรียกได้ว่าเป็น Teahouse ต้นตำรับที่เดียวของกรุงเทพฯ ในขณะนี้ ซึ่งลูกค้าชาวญี่ปุ่นมากมายที่แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสายก็เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าทางร้านชงชาอย่างละเมียดละไมจนเอาชนะใจชาวญี่ป่นซึ่งให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับรายละเอียดของการชงชาได้เป็นอย่างดี

 

17 Tieguanyin

 

ชาตัวแรกที่เราได้ลองในวันนี้คือ Gyokuro ชาเขียวจากเมือง Yame ที่ Fukuoka
ชา Gyokuro นั้นได้ชื่อว่าเป็น King of Japanese Green Tea ซึ่งความพิเศษอยู่ที่ว่าก่อนการเก็บเกี่ยวจะมีการลดการให้แสงลงถึง 90% ทำให้ชาต้องเร่งสร้างคลอโรฟิลล์มาเพิ่มอย่างมากเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสง เป็นที่มาของสีเขียวสดและความขมของใบชาที่ลดน้อยลงไป

ใครที่ชิมชานี้เป็นครั้งแรกอาจจะต้องแปลกใจเพราะรสชาติที่ได้รับนั้นไม่เหมือนการจิบชาที่เคยคุ้น แต่เกือบเหมือนการดื่มน้ำซุป เพราะน้ำแรกของ Gyokuro ที่ชงด้วยน้ำเย็นนั้นจะให้รส Umami หรือที่ว่ากันว่าเป็นรสชาติที่หกที่เป็นรสกลมกล่อม (roundness mouthfeel) ซึ่งจะสังเกตเห็นได้เลยว่าใช้ใบชาเยอะมากต่อน้ำนิดเดียวและวิธีการจิบนั้นต้องจิบแต่น้อยเพียงเคลือบลิ้นค่อยๆ รับรส จากนั้นหายใจออกตามยาวๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงส่วนที่เป็น after taste ละมุนๆ ตามมาด้วย

Gyokuro (Cold)
Gyokuro (Cold)

ตอนชงนั้นคุณธีรออยู่จนน้ำหยดทีละหยดจนหมดสนิทก่อนที่จะยื่นให้เรา
คุณธีบอกว่าที่เป็นเคล็ดลับจาก Tea Master ที่มีการสั่งสอนกันมาตลอดว่า “Heaven is in the last drop” ซึ่งเป็นกุศโลบายเพื่อให้ใจเย็นรอจนน้ำหยดออกมาจนหยดสุดท้ายเพราะมิฉะนั้นระหว่างที่รอก่อนชงน้ำสองน้ำที่หลงเหลืออยู่จะทำให้รสของชาเปลี่ยนไป (overbrew) และน้ำที่สองจะได้รสชาติไม่สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น

Gyokuro (Cold)
Gyokuro (Cold)

เมื่อเราจิบน้ำแรกหมดก็จะเริ่มชงน้ำที่สองซึ่งชงด้วยน้ำร้อน

Gyokuro (Hot)
Gyokuro (Hot)

กลิ่น สีและรสที่ได้ก็จะแตกต่างกันไปอีกแบบเลย

Gyokuro (Hot)
Gyokuro (Hot)

จากนั้นตัวใบชาเองก็จะผสมกับ Yuzu เล็กน้อยให้ทานใบได้จนหมด เรียกว่าทานได้ทุกส่วน

พอใส่ Yuzu ให้ออกเปรี้ยวๆ หอมๆ ก็ทานเพลินเลยค่ะ คล้ายๆ ทานผัก 🙂

Gyokuro (Leaves)
Gyokuro (Leaves)

สนนราคาของชุดนี้ Gyokuro (3 courses): cold>hot>leaves อยู่ที่ 450B ค่ะ

 

ถัดมาเราเปลี่ยนมาชิมเป็นชาจีน (Chinese Oolong Tea) กันบ้าง

ชา Roasted Tieguanyin (hot 280B ; 50g leaves 980B/pack) นั้นเป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักจากนั้นจึงใช้การให้ความร้อนด้วยการคั่วไฟเพื่อหยุดเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการหมัก

คุณธีได้เล่าถึงวิธีการหมักชาว่ามีหลายแบบ ต้องมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเป็นอย่างดีและนำไปกลิ้งให้ใบช้ำเป็นระยะๆ ก่อนที่จะนำไปหมักต่อ ซึ่งการจะดึงออกมากี่รอบเป็นเวลานานเท่าไรนั้นเป็นสูตรเฉพาะตัวที่จะแตกต่างกันไปในการผลิตของแต่ละที่

เมื่อเลือกชาคุณภาพดีมาได้แล้วก็มาถึงกระบวนการชงซึ่งอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในแต่ละรอบจะต้องพอเหมาะเพื่อดึงโน้ตต่างๆ ของรสชาออกมาให้เด่น

Roasted Tieguanyin

Roasted Tieguanyin

ทั้งนี้นอกจากตัวชาแล้วในส่วนของน้ำเองคุณธีก็ใช้วิธีลองผิดลองถูกอยู่หลายรอบกว่าจะเข้าใจว่าชาตัวไหนเหมาะกับการใช้น้ำแร่ชนิดใดในการชงและจะนำน้ำแร่ไปแช่ถ่านไม้ไผ่เพื่อเพิ่มความเป็นด่างและดูดกลิ่นก่อนหรือไม่เป็นต้น

Roasted Tieguanyin
Roasted Tieguanyin

Tieguanyin เป็นชาที่เราถูกใจมากเพราะหอมอ่อนๆ อบอวลในปาก จากนั้นจะมีรสหวานนิดๆ อยู่ที่คอ
ทำให้เราเข้าใจทีเดียวว่าที่ว่าหนึ่งในลักษณะของชาที่ว่าเป็นความฉ่ำคอ (หูยกาน) มันคืออะไร

Roasted Tieguanyin
Roasted Tieguanyin

จากนั้นเราจึงลอง Ceremonial-Grade Matcha ของทางร้าน
คุณธีเลือกเป็น Uji Matcha ให้เราชิม โดยเริ่มจากแบบข้น Koicha (900B) ก่อน

ส่วนตัวไม่เคยได้ลอง Koicha มาก่อนจึงเป็นประสบการณ์แปลกใหม่พอสมควร ตัวชาข้นมากจนเทลำบาก ดื่มแล้วทั้งมันทั้งหวานแถมอมรสขมในคราเดียวกัน

Koicha
Koicha

สำหรับ Matcha นั้นเป็นชาแบบที่แพงที่สุดของญี่ปุ่นเพราะจะแยกขอบแยกเส้นใยออกหมดก่อนนำแต่ส่วนที่ดีที่สุดมาทำ
ชาชนิดนี้ถ้าเกรดยิ่งต่ำลงเท่าไรรสก็จะยิ่งฝาดยิ่งขมขึ้นเท่านั้น

ที่นี่จึงเน้นการคัด Matcha เกรดดีที่สุดมาให้รสชาติจึงออกหวานมันและขมเพียงนิดๆ
การชง Matcha จะต้องใช้น้ำที่มีความกระด้างต่ำๆ จึงเหมาะเพราะดึงกลิ่นชาออกมาได้ดีกว่า

เมื่อทานแบบข้น หรือ Koicha ไปแล้ว น้ำที่สองหรือแบบใสที่เรียกว่า Usucha (450B) ก็จะดื่มง่ายขึ้นเพราะไม่ข้นเท่าแบบแรก
แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์ความหอมและมันอยู่เช่นกัน

Usucha

Usucha

สำหรับรายการนี้ถ้าสั่งแบบข้นก็จะได้แบบใสตามมาเป็นถ้วยที่สองโดยอัตโนมัติ หรือจะเลือกสั่งแบบใสเพียงอย่างเดียวก็ได้

 

จากชาญี่ปุ่นสลับกลับมาที่ชาจีนอีกรอบ
คราวนี้เป็นทีของ Jinjunmei (hot 380B ; 50g leaves 1880B/pack) ที่จะได้มาอวดโฉม

Jinjunmei

Jinjunmei

 

คุณธีเล่าอีกว่าชาของจีนนั้นมีหลายเกรดมาก เกรดดีๆ ในปัจจุบันฟังราคาแล้วจะต้องตกใจเพราะขายกันอยู่ที่กิโลละเป็นระดับล้านบาทเลยทีเดียวซึ่งเมื่อคุณธีได้มีโอกาสเดินทางไปชิมชาเกรดสูงที่ขึ้นในธรรมชาติที่ประเทศจีนก็เป็นจุดพลิกผันในชีวิตที่ทำให้แม้กระทั่ง Tea Master ระดับคุณธีเองก็ต้องเปลี่ยนมุมมองการดื่มชาและชงชาเสียใหม่

ผู้เชี่ยวชาญชาในประเทศจีนนั้นเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับชามาหลายชั่วอายุคน รู้จัก”นิสัย”ของชาชนิดที่ตัวเองปลูกเป็นอย่างดีถึงขนาดที่ว่าสามารถตวงด้วยมือเปล่าหรือสังเกตน้ำเพียงแค่ลักษณะควันลักษณะฟองก็สามารถชงชา ณ จุดที่ชาและอุณหภูมิน้ำลงตัวกันพอดี ชงกี่ทีๆ ก็ออกมาเป็น perfect brew ทุกรอบไป

ฝีมือของ Tea Master นั้นเป๊ะในระดับที่ว่าแม้จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปรอทมาวัดอุณหภูมิหรือใช้เครื่องชั่งมาตวงชาให้ตรงเป๊ะอย่างไรก็ไม่สามารถเลียนแบบความแม่นยำได้เพราะชาเองในแต่ละกำมือนั้นมีส่วนก้านส่วนใบส่วนใยต่างๆ ที่เขย่าเลือกด้วยมือจนพอดีได้แต่หากชั่งเฉยๆ ก็บอกสัดส่วนให้ลงตัวไม่ได้เท่า แถมตัวกาน้ำชาแต่ละใบก็มีความหนามีรูพรุนที่ไม่เท่ากัน ถึงจะวัดอุณหภูมิน้ำได้แต่ถ้าไม่เข้าใจกาใบนั้นเย็นลงได้เร็วแค่ไหนก็จะคุมความเร็วในการลดอุณหภูมิลงระหว่างการชงไม่ได้ เป็นต้น

ซึ่งหากได้มีโอกาสได้ไปจิบชาของ Tea Master เหล่านี้อย่างที่คุณธีได้ไปก็จะบรรลุถึงสัจธรรมความเรียบง่ายแต่ซับซ้อนของชาใสๆ บางเบาที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบสีกลิ่นรสที่ละเอียดอ่อนมากมายสอดประสานกันอย่างลงตัวในจิบเดียว ถ้าไม่ได้คุณธีมาเล่ารายละเอียดเหล่านี้ให้ฟังเราเองก็ไม่เคยรู้เลยว่าศาสตร์แห่งชานั้นมันลึกซึ้งถึงเพียงนี้

Jinjunmei

Jinjunmei

ชา Jinjunmei นั้นออกกลิ่นหอมน้ำผึ้ง ลิ้นจี่  และคาราเมล after taste อันหอมหวนละมุนละไมนั้นอวลอยู่อีกช่วงเวลาหนึ่งหลังจากจิบเลยทีเดียว

 

ผ่านบทเรียนการดื่มด่ำกับชาแบบต่างๆ แล้ว เราก็มาถึงชาในรูปแบบที่ทุกคนชื่นชอบคุ้นเคยกันดีนั่นก็คือชานมหรือลาเต้นั่นเอง

คุณธีตั้งปณิธานไว้ว่า Matcha Latte ที่ร้านนี้เสิร์ฟจะต้องเป็น Matcha Latte ที่เข้มข้นหอมอร่อยที่สุดในเมืองไทย!

Matcha Latte ของที่นี่มีให้เลือกความเข้มข้นได้สามระดับ (Green Espresso 450B; Veteran 280B; Newbie 230B)

 

แน่นอนว่ามาถึงนี่ทั้งทีเราคงไม่ใจเสาะเลยจัด Green Espresso เลยให้รู้กันไป

Green Espresso Matcha Latte

Green Espresso Matcha Latte

ลาเต้เย็นของที่นี่ไม่ใส่น้ำแข็งแต่ใช้ชามหนาพิเศษนำไปแช่เย็นล่วงหน้าแทน Green Espresso ที่นี่เข้มข้นถึงใจอย่างที่สุดเกินคำบรรยาย
ใครที่รักชาเขียวอยู่แล้วจะต้องฟินสุดๆ อย่างแน่นอน เพราะทางร้านใช้ Matcha เกรดสูงมาผสมกับนมและน้ำตาล ออกหวานเพียงเล็กน้อยแต่หอมมันกำลังดี

 

สำหรับตัวเอง ณ จุดนั้นบอกเลยว่าเป็นลาเต้ชาเขียวที่อร่อยที่สุดที่เคยได้ลองมา

Green Espresso Matcha Latte

Green Espresso Matcha Latte

 

แต่ Green Espresso Matcha Latte นี้ได้ครองแชมป์ในดวงใจของเราอยู่เพียงครู่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเมนูต่อไป คือ Houjicha Latte  (280B)

ถ้วยนี้นี่ได้จิบแล้วเราก็แทบจะละลายสลายร่างกันอยู่ตรงนั้น
ด้วยความที่ Houjicha เป็นชาคั่ว Houjicha Latte ที่ได้กลิ่นจึงยิ่งหอมเป็นพิเศษ

 

Houjicha Latte
Houjicha Latte

 

ตั้งแต่ดื่มลาเต้ชาเขียวมายังไม่เคยค้นพบเมนูใดที่สร้างความประทับใจได้ถึงขั้นนี้
คาดว่าจะเป็นเมนูที่ต้องพาเพื่อนๆ แวะเวียนกลับมาชิมบ่อยๆ อย่างแน่นอน

 

มาชิมชากันแล้ว หลายๆ คนอาจจะมองหาขนมหวานที่จะมาทานคู่กับชา
ก็ต้องแอบเตือนไว้ก่อนว่าทางร้าน Peace Oriental Teahouse จะเสิร์ฟขนมหวานเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และ อาทิตย์เท่านั้น

แน่นอนว่าขนมหวานเองก็ต้องมีความพิเศษไม่แพ้ชาที่นำมาเสิร์ฟ
ทางร้านได้คุณยายชาวญี่ปุ่นซึ่งเคยทำขนมหวานแบบญี่ปุ่นมายาวนานเป็นเวลาหลายสิบปีมาช่วยบรรจงทำขนมให้

โดยสำหรับเดือนพฤษภาคมนี้ทางร้านจะเสิร์ฟ Sakura Mochi (95B)
โมจิแป้งบางพิเศษสูตรคุณยายมิซึเอะห่อมาด้วยใบซากุระและสอดไส้ด้วยถั่วแดงเนื้อเนียนที่ไม่หวานมาก เหมาะกับการทานคู่กับชาร้อนเป็นที่ยิ่ง

 

 Sakura Mochi
Sakura Mochi

 

ใครที่อยากทานขนมหวานเห็นจะต้องรีบกันหน่อยเพราะได้ข่าวว่าขายดิบขายดีจนหมดแต่หัววันทุกทีไป ช้าหมดอดจะหาว่าเราไม่เตือน

สำหรับเมนูขนมหวาน ทางร้านจะรังสรรค์ขนมหวานใหม่ๆ มาให้ได้ลิ้มลองกันทุกๆ เดือน
ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีขนมหวานเด็ดๆ อะไรมาล่อตาล่อใจเราอีกในเดือนถัดๆ ไป

 

ร้านนี้ผู้เขียนยอมรับเลยว่าเป็นร้านที่เปิดโลกทัศน์ด้านศาสตร์แห่งชาให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก
แม้จะลิ้มลองอาหารมาหลายหลากจนมั่นใจในการจำแนกแยกแยะรสชาติพอสมควรก็แต่ไม่เคยที่จะเข้าใจความสวยงามของการดื่มชามาก่อนจนกระทั่งวันนี้

ส่วนตัวก็เข้าใจว่าราคาของที่นี่อาจจะดูสูงอยู่สักหน่อย แต่หากเทียบกับราคาของต้นทุนของวัตถุดิบระดับสุดยอดที่ทางร้านไปสรรหามาบวกกับความพิถีพิถันในทุกกระบวนการแล้วก็ทำให้พอเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องขายในราคาดังกล่าว

ทั้งนี้หลายๆ เมนูทางร้านก็พยายามเต็มที่ที่จะปรับราคาลงมาให้อยู่ในจุดที่เอื้อมถึงแม้จะยังคงวัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยมไว้เช่น เมนูลาเต้ต่างๆ ที่ใช้ชาชั้นเยี่ยมแตกต่างจากร้านอื่นๆ มากแต่ก็ให้ราคาไว้ในจุดที่พอจะใกล้เคียงกัน

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่มองการรับประทานอาหารหรือดื่มชาเป็นเสมือนการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เชื่อว่าคุณจะต้องพึงใจกับประสบการณ์ที่คุณจะได้รับจากการเดินทางไปกับศาสตร์แห่งชาที่ Peace Oriental Teahouse อย่างแน่นอนเชียวค่ะ

 

5

 

 

ผู้เขียนหวังว่ารีวิวนี้จะทำให้ใครหลายๆ คนหันมาสนใจ “ศาสตร์แห่งชา”กันมากขึ้น
ขอบคุณอีกครั้งที่ติดตามอ่านกันนะคะ

Comments

comments